อิสเรศ มะหะหมัด ผมได้รับโอกาสจากอัลลอฮฺ

โพสเมื่อ : 2016-09-30 7:56 น. หมวดหมู่: Cover Story

Life Coverเล่มนี้นับเป็นความโชคดีที่ทีมงาน BML ได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่อย่างอิสเรศ มะหะหมัด บัญชีบัณทิต จากรั้วจามจุรีที่ดั้นด้นจนสำเร็จการศึกษาจากประเทศที่เป็นฮับของอิสลามิกไฟแนนซ์อย่างมาเลเซียกลายเป็นกูรูด้านการเงินและการลงทุนของอิสลามในวันนี้ 

มีหลายเรื่องจากการสนทนากัน ที่มากด้วยอรรถประโยชน์และความน่าประทับใจ โดยเฉพาะการหยิบยกคำสอนของตา ซึ่งเป็นถึงอดีตจุฬาราชมนตรีว่า จะทำงานรับใช้ศาสนา ไม่จำกัดแต่เพียงว่าต้องเรียนศาสนา 

“ผมเคยถามคุณตา(ท่านจุฬาฯ ประเสริฐ มะหะหมัด) ช่วงกำลังเอ็นทรานซ์ว่า จะเรียนศาสนาดีไหม ท่านตอบว่า ไปเรียนอย่างอื่นบ้างเถิด เรียนโต๊ะครูกันเยอะแล้ว จะได้ทำอย่างอื่นกันบ้าง เรียนอย่างอื่นก็สร้างประโยชน์ให้ศาสนาและสังคมมุสลิมได้เช่นกัน หลังจากเรียนจบบัญชีจากจุฬาฯ พอทำงานที่ พีดับบลิวซีบิ๊กโฟร์ของออดิทได้ประมาณ 2 ปีเริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้ทำเพื่ออุมมะฮ์หรือเพื่อศาสนาเลยมองใหม่ว่า… 

ทำอย่างไรถึงจะทำตัวเองให้เป็นประโยชน์แก่สังคมมุสลิมไทยได้บ้างในฐานะลูกศิษย์เลยปรึกษาอาจารย์อรุณ บุญชมท่านก็แนะนำให้เรียนเรื่องการเงินอิสลาม เพราะสังคมมุสลิมยังขาดคนที่มีความรู้ทางด้านนี้ ผมเรียนมาทางด้านบัญชี การต่อยอดด้านนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยาก เลยเริ่มหาข้อมูลว่า ถ้าจะเรียนทางด้านนี้ ควรเรียนที่ไหน สุดท้ายก็ตัดสินใจไปเรียนที่ UIA ประเทศมาเลเซีย”อิสเรศเล่าถึงที่มาของการสนใจงานด้านการเงินอิสลาม

หลังจากกลับจากมาเลเซีย อิศเรศเริ่มทำเว็บไซต์ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเงินการลงทุนที่ร่ำเรียนมาให้คนทั่วไปได้รู้สิ่งนี้ทำให้เขาเริ่มรู้ว่า จากกองทุนมูลค่าหลายแสนล้านในประเทศไทยนั้น เป็นกองทุนอิสลามิกไฟแนนซ์ไม่ถึง 500 ล้านบาท ต่างจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์หรือฮ่องกงที่ล้วนแต่มีขนาดกองทุนอิสลามิกไฟแนนซ์ที่ใหญ่กว่าไทยแบบเทียบกันไม่ได้

“มีช่วงหนึ่งที่ผมทำงานที่ไอแบงก์ มีโอกาสลงพื้นที่ภาคใต้ได้เห็นถึงความแตกต่างกันของสาขาไอแบงก์กรุงเทพฯ และสาขาใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่นั่นไอแบงก์เหมือนแบงก์เบอร์หนึ่งแต่ละสาขาคนแทบจะล้นออกมาข้างนอก แสดงให้เห็นว่า สังคมมุสลิมต้องการสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนาแต่เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีทางเลือก ผมเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนั้นว่า อยากทำบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นอิสลามิกเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนมุสลิมที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ยในการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ตัวเลขที่น่าสนใจขณะนั้น คือมีนักลงทุนมุสลิมเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปกว่า 20,000 คน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ลงทุนอย่างไม่มีทางเลือก”

จนเมื่อต้นปี 2559 หลังจาก ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ จาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณจํากัดเข้ามาซื้อหุ้นเคทีบีเอสทีเขาจึงไถ่ถามถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะทำให้เคทีบีเอสทีแห่งนี้ ให้เป็นทางเลือกการลงทุนให้พี่น้องมุสลิมที่ต้องการทางเลือกซึ่งทำให้ความมั่งคั่งงอกเงยขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน

“เหมือนพระเจ้าให้ทางนำกับเราจึงมีโอกาสได้เริ่มทำตรงนี้ ทำในสิ่งที่เป็นการสร้างทางเลือกให้มุสลิม ที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องเสี่ยงตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ซึ่งตลอด 5-6 เดือนที่ผ่านมา กระแสตอบรับดีเกินคาด สำหรับปีนี้ซึ่งเป็นปีแรก เราคาดว่า ยอดรายได้น่าจะเกินพันล้าน เพราะที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมุสลิมและรวมถึงนักลงทุนศาสนิกอื่นที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจบาป สิ่งมอมเมาเยาวชน สุรา การพนัน ซึ่งตรงกับหลักการของชารีอะฮ์ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นคือเรื่อง ดอกเบี้ย ซึ่งนักลงทุนหลายคนก็มองเหมือนกันว่า ดอกเบี้ยเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม” 

กับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการลงทุนส่วนบุคคลบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัดอิสเรศมองว่า สิ่งที่ทำอยู่คือ การได้รับอามานะห์จากพระผู้เป็นเจ้าให้มาทำเรื่องนี้  เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่สร้างทางเลือกให้กับมุสลิม

“ทุกวันนี้ ตื่นมาทำงานเหมือนมาทำญิฮาด เหมือนมาทำงานในหนทางของพระเจ้า ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น จะเป็นทางเลือกให้นักลงทุนในการทำสิ่งที่ถูกต้อง คุณตาผมท่านเคยทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาแล้ว เป็นผู้นำศาสนา แก้ปัญหาจังหวัดภาคใต้สมัยก่อน เราได้มีโอกาสแก้ปัญหาการลงทุนของมุสลิม อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เป็นฮิดายะห์และเป็นอามานะห์ที่ได้รับมอบหมาย”

ท้ายที่สุดนี้ กูรูด้านอิสลามิกไฟแนนซ์ ยังฝากถึงเยาวชนมุสลิมไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เยาวชนมุสลิมเรามีศักยภาพไม่แพ้ใคร แต่ขาดโอกาส สังคมมัวไปแยกอะไรคือสามัญ อะไรคือศาสนา ซึ่งจริงๆ แล้วนบีไม่เคยแยก การศึกษาก็คือ การศึกษา อย่าลืมว่า หนึ่งกำปงหรือในตำบลหนึ่งๆ ต้องประกอบกันจากคนในทุกวิชาชีพ แต่ส่วนใหญ่แล้ว พอมีใครตัดสินใจเลือกเรียนสามัญก็มักจะถูกมองว่า ออกนอกลู่ นอกทาง 

การที่ส่งเสริมการเรียนศาสนาเพียงด้านเดียว บางครั้งก็เป็นการปิดกั้นพรสวรรค์ทางด้านอื่นส่งผลให้ทุกวันนี้สังคมมุสลิมขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพอื่นๆ อย่างกรณีธนาคารอิสลาม เราต้องการบุคลากรมุสลิมเก่งๆ มาช่วยเหลือ แต่มองไปแล้วไม่มีใคร เพราะหากใครเรียนด้านการเงินสังคมก็จะบอกว่า เรียนระบบดอกเบี้ยบาปไม่ควรเรียน แต่ถ้าถามคนมาเลเซีย เขาก็จะตอบทันทีว่า ไม่เรียนรู้เรื่องดอกเบี้ยแล้วเราจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไรคนที่นั่นเขามองคนละอย่างกับประเทศไทย ประเทศเขาถึงเป็นฮับของอิสลามิกไฟแนนซ์”


เรียบเรียงโดย Berita muslim

บทความล่าสุด

หลักคำสอนอิสลาม สู่การกำเนิด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ “Shabab Co...

อัสลามูอาลัยกุม ขอความจำเริญมาสู่พวกท่าน ในเดือนสุดท้ายของปี 2565 ก็ให้ทุกคนที่ต...

2022-12-21 10:09
“เราพยายามพัฒนาเรื่องการเซอร์วิสให้เป็นมาตรฐานโลก” อธิศ (อาห...

อธิศ (อาหมัด) นานา / Assistant Vice President Nouvo City Hotel “เราพยายามพัฒนา...

2022-11-29 16:55
นก บินซอและห์ / กับบทบาทใหม่ของการบริหารธุรกิจเนื้อวัว “สินธ...

ถ้าให้ลองนึกถึงเนื้อวัวคุณภาพสูงและราคาจับต้องได้ เราจะนึกถึงใคร แน่นอนว่าต้องมี...

2022-10-25 11:53
ประสบการณ์จากคุณพ่อ สู่การบริหารธุรกิจ Afeef Tours

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการท่องเที่ยวนั้นยังคงเป็นการพักผ่อนที่ใครหลายๆ คนชื่...

2022-09-19 10:05